วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อนุมูลอิสระ (Free Radicals)

ชีวิตดำรงอยู่ได้และดำเนินไป โดยมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดสมดุลทั้งภายในของชีวิตเองและกับสิ่งแวดล้อมภายนอกจึงมีสุขภาพ เมื่อเสียสมดุลก็เกิดโรค เราเรียกขบวนการนี้ว่า ขบวนการปรับแต่งชีวภาพ ชีวิตใช้สารอาหารที่รับการย่อยปรับแต่งจากขบวนการต่างๆ น้ำและออกซิเจนที่หายใจเข้าไป เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปรับเปลี่ยน มีการรับสิ่งเหล่านี้ นำไปใช้เพื่อสร้างเสริมเป็นพลังงาน และถ่ายเทของเสียหรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป นั่นคือ มีการสร้างสรรค์ ทรงสภาพ-บำรุงรักษา และทำลาย สืบเนื่องโดยตลอดไม่มีหยุด เป็นขบวนการปรับแต่งชีวภาพที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย ซึ่งปฏิกิริยาทางเคมีจะเกิดขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านครั้งต่อวินาทีต่อเซลล์ กับเซลล์ 60-100 ล้านล้านเซลล์ ที่มีทั้งหมดของร่างกายมนุษย์

ขบวนการปรับแต่งชีวภาพนี้ ส่วนใหญ่คือการสันดาปซึ่งใช้ออกซิเจนทำปฏิกิริยา เป็นองค์ประกอบสำคัญ เรียกตามภาษาวิทยาศาสตร์ว่า ออกซิเดชั่น (oxidation) ขบวนการนี้ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ร่างกายใช้ออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรยากาศที่มีปริมาณและองค์ประกอบเช่น ก๊าซอื่นๆ ในอัตราส่วนที่คงที่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องซื้อหา เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยออกซิเจน นำออกซิเจนไปประกอบกับสารอาหารและอื่นๆ เรียกว่า แอโรบิคเมตาบอลิสซึ่ม (aerobic metabolism) คือขบวนการที่ปรับเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็นพลังงาน ออกซิเจนที่เราหายใจสู่ปอดจะแทรกผ่านผนังถุงลมแล้วถูกนำพาโดยฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงทุกเซลล์ทั่วร่างกาย เมื่อร่างกายใช้ออกซิเจน ก็จะเกิดผลผลิตข้างเคียง เรียกว่า รีแอ๊คตีฟออกซิเจนสเปซีส์ (reactive oxygen species, ROS) คือสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยาชนิดต่างๆ เหมือนกับการเผาไหม้ฟืนมีควันเกิดขึ้น นี่คือ ออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระ (free radicals) ซึ่งจะเกิดได้มากน้อยต่างกันไป ออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระนั้นอันตราย มันมีปฏิกิริยาโดยตลอด ที่เป็นเช่นนี้เพราะอิเล็กตรอน (electron) ที่อยู่วงนอกสุดนั้น ไม่มีคู่จับ (unpaired electron) โดยปกติอะตอม (atom) ของธาตุใดๆ นั้นมีโปรตอน (proton) และนิวตรอน (neutron) ประกอบกับเป็นนิวเคลียส (nucleus) มีอิเล็กตรอนเป็นคู่ๆ โคจรเป็นวงแหวนอยู่รอบๆ เมื่ออิเล็กตรอนไม่มีคู่ซึ่งอยู่วงแหวนนอกสุด มันจะไม่สงบ ต้องการจับคู่ มันจึงขโมยอิเล็กตรอนหรืออะตอมไฮโดรเจนทั้งหมดที่อยู่ใกล้เคียง ตัวมันจึงมีอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดรูที่ผนังเซลล์ ไปเปลี่ยนแปลงภาวะทางเคมีของไมโตคอนเดรีย (mitochondria – คือ องค์ประกอบภายในเซลล์ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานแก่เซลล์) หรือไปทำร้ายดีเอนเอ (DNA) ให้แตกออกจากนิวเคลียสของเซลล์ อันตรายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเล็กน้อย แต่เป็นส่วนสำคัญเนื่องจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระจะเกิดขึ้นคล้ายเป็นลูกโซ่เพราะเมื่อมันไปแย่งอิเล็กตรอน อะตอมตัวนั้นก็จะขาดอิเล็กตรอน มันจึงไปแย่งตัวอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ อาจมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นเป็นล้านๆ ตัวในแต่ละวินาทีทั่วร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมาก

สายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) และสารต้าน

1.) ซุปเปอร์ออกไซด์ (superoxide O2)

การที่ร่างกายใช้ออกซิเจน อนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์จะเกิดขึ้น มันก็คือโมเลกุลของออกซิเจนที่มีอิเล็กตรอนมากขึ้น 1 ตัว ซึ่งทำให้มันเป็นอนุมูลอิสระ ซุปเปอร์ออกไซด์เป็นอนุมูลอิสระที่พบได้มากที่สุด ปกติซุปเปอร์ออกไซด์จะถูกจับกิน (scavenger) โดยซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส (superoxide dismutase, SOD) อย่างรวดเร็ว เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่ง (catalizing) ปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลของซุปเปอร์ออกไซด์ 2 ตัว และโมเลกุลของไฮโดรเจน 2 ตัว แต่ถ้าขบวนการขจัดพิษนี้เกิดขึ้นได้ไม่เร็วพอ (เป็นเพราะ SOD มีไม่เพียงพอ) ซุปเปอร์ออกไซด์จะพยายามจับอิเล็กตรอนที่มีอยู่ใกล้เคียง เป้าที่ใกล้ที่สุดคือผนังของเซลล์ ถัดมาคือไมโตคอนเดรียและโครโมโซม (chromosome, DNA) นอกจากฆ่าเซลล์แล้วหรือยังทำให้เซลล์กลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้

SOD ต้องการแร่ธาตุ ทองแดง (copper) สังกะสี (zinc) และแมกนีเซียม (magnesium) เพื่อผลิตและทำหน้าที่ได้ดี

2.) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide, H2O2)

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เป็นผลผลิตที่เกิดจากการจับกินอนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์โดย SOD ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ไม่มีปฏิกิริยารุนแรงเท่าซุปเปอร์ออกไซด์ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จะถูกทำลายได้ด้วยเอนไซม์คะตาเลส หรือ กลูตาไธโอน เปอร๊อคซิเดส (catalase or glutathione peroxidase) คะตาเลสทำปฏิกิริยาในน้ำ ส่วนกลูตาไธโอนทำปฏิกิริยาในไขมัน เมื่อทำปฏิกิริยาเสร็จ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำและออกซิเจน (H2O2 --> H2O + O2)

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์มีความสามารถทำลาย ดีเอนเอ ซึ่งมีข้อมูลที่จะสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม เมื่อถูกทำลายจะเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) มีโอกาสเกิดมะเร็งได้ ปฏิกิริยาที่เกิดจากไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เรียกว่า เปอร๊อคซิเดชั่น (peroxidation) ที่มีอันตรายมาก คือ ที่เกิดกับไขมัน (lipid peroxidation)

ซีลีเนียม (selenium) และ แอล ซีสเตอีน (L-cystein) เป็นสารที่จำเป็นในการสร้างและเสริมสภาพกลูตาไธโอน

3.) อนุมูลไฮดรอคซีล (Hydroxyl radicals, OH*)

ในกรณีที่กลูตาไธโอน หรือ ซีลีเนียม ที่จะนำไปผลิตเป็นแอนติออกซิแดนท์ เอนไซม์ (antioxidants enzymes สารต้านอนุมูลอิสระ) มีไม่พอทำหน้าที่ได้ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำและออกซิเจน อนุมูลไฮดรอคซีล (hydroxyl radicals) ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มีพิษมากที่สุดมีปฏิกิริยาสูงมาก มันจะไปขโมยอะตอมของไฮโดรเจนที่อยู่ใกล้ที่สุด แม้จะมีปฏิกิริยาสั้นมากเพียงหนึ่งในพันวินาที แต่เป็นอันตรายต่อเซลล์มากอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่าการเกิดปฏิกิริยาในช่วงที่สั้นมากไม่น่าจะมีอันตรายนัก แต่ในความเป็นจริง ไม่มีเซลล์ใดที่สูญเสียไฮโดรเจนได้ เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันตรายอย่างมาก และยิ่งไม่เกิดเพียงโมเลกุลเดียว แต่เป็นล้านๆ โมเลกุลจะอันตรายแค่ไหน

งานวิจัยได้พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่จะไปต้านอนุมูลตัวนี้ คือ เมไธโอนีน รีดัคเตส (methionine reductase), อามิกดาบิน (amygdalin) หรือ วิตามิน บี17-ลีทริล (vitamin B17-laetrile) และไพรแอนโธไซยานิดินส์ (proanthocyanidins) ที่สกัดได้จากเมล็ดองุ่นและเปลือกสน

จะเห็นได้ว่า สายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยาจะเกิดเรียงตามลำดับจากซุปเปอร์ออกไซด์ สู่ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์และอนุมูลไฮดร๊อคซีล

4.) ซิงเกลทออกซิเจน (singlet oxygen, 1O2)

ออกซิเจนนั้นมีมากกว่ารูปแบบเดียวที่เรามักรู้จักกัน O2 มีประโยชน์มาก แต่ซิงเกลทออกซิเจน 1O2 นั้นมีอันตรายมาก ออกซิเจน O2 ซึ่งมั่นคงนั้นเมื่อถูกรังสีแสงอาทิตย์จับทางเคมีอาจแตกออก กลายเป็นซิงเกลท ออกซิเจน 1O2 ได้ ซึ่งมีอันตรายต่อข้อ เกี่ยวเนื่องกับการอักเสบ (arthritis) มีอันตรายต่อตา ทำให้เกิดต้อกระจก และต่อจอรับภาพของตา (retina) ทำให้เกิดเสื่อมสภาพ (macular degeneration)

สารต้านอนุมูลอิสระที่ขจัดซิงเกลทออกซิเจน ได้แก่ สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) เช่น เบต้า-แคโรทีน (beta-carotene) และไลโคพีน (lycopene) นอกจากนี้ วิตามิน อี และแม้แต่คอเลสเตอรอล สามารถขจัดซิงเกลทออกซิเจนได้

สารที่ต้านออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) หรือต้านอนุมูลอิสระทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น เราเรียกว่า สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ แอนติออกซิแดนท์ (antioxidants)

ความเสียหายจากออกซิเดชั่น ออกซิเดตีฟ สเตรส (Oxidative stress)

โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพส่วนใหญ่นั้นสัมพันธ์กับความเสียหายของเซลล์อนุมูลอิสระ เช่น โรคข้อเสื่อม ต้อกระจก เบาหวาน หลอดเลือดแข็ง โรคสมองเสื่อม มะเร็งเกือบทุกชนิด ฯลฯ และรวมทั้งทำให้เกิดการแก่ชรา

อนุมูลอิสระไปทำร้ายส่วนต่างๆ ของเซลล์ ทำให้เกิดความเสียหายคือ

1.) ผนังเซลล์ (cell wall, plasma membrane) ปกติผนังเซลล์มีรูพรุนซึ่งเป็นช่องทางให้อาหารเข้าสู่เซลล์ และถ่ายเทของเสียออกไป อนุมูลอิสระทำให้ผนังเซลล์ฉีกรั่วหรืออุดตันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทำให้มันตายก่อนเวลาอันควร

2.) ดีเอ็นเอ (DNA) เมื่ออนุมูลอิสระเข้าไปภายในเซลล์สู่นิวเคลียส ชอบที่จะทำอันตรายดีเอ็นเอของยีน ซึ่งเป็นหน่วยเก็บข้อมูลควบคุมทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้มันสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิม โดยปกติเซลล์ เมื่อหมดอายุ ร่างกายก็จะสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ตลอดเวลา อนุมูลอิสระไปทำให้ข้อมูลการควบคุมในยีนสับสน (corss-linking damage) ทำให้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิม เกิดการกลายพันธุ์ได้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง

3.) ไขมันในเลือดและเนื้อเยื่อ (blood and tissue lipids) ด้วยขบวนการ lipid peroxidation ไขมันในเลือด และในเนื้อเยื่อจะถูกทำร้ายด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ หรือ เปอรอคซีไนเตรท (hydrogenperoxide or peroxynitrate) ทั้งสองนี้เป็น ROS เช่น ไขมันความหนาแน่นต่ำ (low density lipoprotein cholesterol, LDL) ในเลือด เมื่อถูกทำให้เกิดความเสียหายด้วยอนุมูลอิสระเกิดออกซิเดชั่น (oxidized LDL) เป็นจุดเริ่มขบวนการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (artherosclerosis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและสโตรค

4.) ไมโตคอมเดรีย (mitochondria) ไมโตคอนเดรียเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตพลังงาน อนุมูลอิสระทำให้ปฏิกิริยาของมันถูกขัดขวาง เซลล์จึงขาดพลังงานที่จะทำหน้าที่ เมื่อเซลล์เหล่านี้ที่มีพลังงานต่ำมีมากทั่วร่างกาย จะทำให้อ่อนเพลียตลอดเวลา และต่อต้านโรคได้ไม่ดี

5.) ไลโซโซม (lysosomes) ไลโซโซมเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตเอนไซม์ที่อยู่ภายในเซลล์ ได้รับการออกแบบให้ย่อยทุกสิ่งยกเว้นผนังที่หุ้มมัน เมื่อมันถูกทำให้เสียหายด้วยอนุมูลอิสระที่ทำให้ผนังห่อหุ้มมันแตก มันจะออกมาย่อยกินภายในเซลล์และสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระตลอดทางที่มันผ่านไป

ความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระจะสะสมมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์แต่ละเซลล์ อวัยวะ และร่างกายของเราจะอ่อนแอลง เกิดโรคและความชราตามมา

ร่างกายมนุษย์ใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิตในขบวนการที่เรียกว่า เมตาโบลิสซึม” (metabolism) หรือการสันดาป หรือ เผาเป็นพลังงาน ซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลา ผลผลิตพลอยได้ที่เป็นสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (ROS) จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั่วร่างกาย นั่นคือ อนุมูลอิสระ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นธรรมชาติที่จะต้องมีสิ่งนี้เกิดขึ้นทุกลมหายใจ แต่ร่างกายมนุษย์ได้ถูกออกแบบมาให้ขจัดสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติได้ด้วยแอนติออกซิแดนท์ จะเป็นไปได้มากน้อยมีประสิทธิภาพแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเราได้เตรียม (รับประทาน) สารอาหาร เกลือแร่ วิตามิน และอื่นๆ ที่ต้องการให้ดีพอเพียงหรือไม่

ปัจจัยเกื้อหนุนอะไรบ้างที่ไปส่งเสริมให้อนุมูลอิสระถูกผลิตมากขึ้น

1.) ความเครียด

ความเครียดทางอารมณ์และกายทำให้อนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ความเครียดเพียงเล็กน้อยคงไม่ทำให้เพิ่มมาก แต่ความเครียดมากหมายถึง การตอบสนองทางอารมณ์มาก จะทำให้มีอนุมูลอิสระเพิ่มมาก ความเครียดทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมาก อนุมูลอิสระจึงเกิดมาก

2.) มลพิษในอากาศ

เป็นภาวะที่เกิดมากในยุคปัจจุบัน มลภาวะในอากาศประกอบด้วย ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โอโซน (O3) โมเลกุลของไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon molecules) ต่างๆ ควันเขม่า ฝุ่นละเอียด คาร์บอนมอนน๊อคไซด์ (CO) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ

สารอันตรายในอากาศเหล่านี้เป็นผลผลิตก่อขึ้นโดยมนุษย์ อาทิเช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรม จากการเผ่าป่าไม้ จากการเผาขยะซึ่งมีขยะพลาสติกอยู่ด้วย

การใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ฉีดทำให้กระจายปนเปื้อนในอากาศ ทั้งนี้ความทั้งการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้แพร่กระจายไปในอากาศ ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื้อรังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีควันเสียจากรถยนต์มาก และถ้าอยู่ใกล้ป่าที่มีการเผาทำลายจะยิ่งได้รับควันพิษเหล่านี้มาก พบว่า เมืองที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี จะมีสถิติการเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าเมืองอื่นที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มลภาวะในอากาศก่อให้เกิดโรค เช่น หอบหืด แพ้อากาศ หลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น ฝุ่นละอองในอากาศที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะอาชีพนั้นๆ เช่น กรรมกรที่ทำเหมืองแร่, กรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมได้รับสารเคมีต่างๆ หลายชนิด เช่นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ฯลฯ

3.) ควันบุหรี่

เราอาจคิดว่ามลพิษในอากาศที่กล่าวมามีอันตรายมาก แต่สำหรับผู้สูบบุหรี่แล้วควันบุหรี่ร้ายแรงยิ่งกว่า ดังที่ทราบกัน การสูบบุหรี่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคหลอดเลือดแข็ง และที่ร้ายแรงคือ มะเร็งปอด สารพิษที่มากับควันบุหรี่คือ นิโคติน น้ำมันดิน สารปนเปื้อนอื่นๆ เช่น สารเคมี สารโลหะหนัก นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้สูบเองแต่อยู่ในที่มีผู้อื่นสูบเป็นประจำและห้องอับ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เรียกกันว่า ผู้สูบบุหรี่มือสอง สารที่อยู่ในควันบุหรี่เหล่านี้ ก่อนให้เกิดอนุมูลอิสระและเป็นพิษ การงดสูบบุหรี่จะดีที่สุด ผู้ที่ยังงดไม่ได้ ก็ให้รับประทานผัก-ผลไม้มากๆ และรับประทานวิตามินซี ปริมาณสูงและแอนติออกซิแดนท์อื่นๆ จะช่วยได้

4.) น้ำและอาหารที่ปนเปื้อน

จากการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมและการเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างมาก สารเคมีต่างๆ ที่ใช้จะปนเปื้อนแทรกซึมสู่แหล่งน้ำ แม้แต่น้ำฝนก็ปนเปื้อนเพราะสารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อฝนตกลงมา ก็จะซะเอาสารเคมีปนเปื้อนไปด้วย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าน้ำที่เราบริโภคนั้นสะอาดแค่ไหน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสารเคมีผลิตขึ้นมากกว่า 60,000 ชนิด ปีละประมาณ 1,000 ชนิด เช่น สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อรา ที่ใช้ในการผลิตอาหาร สารเคมีเหล่านี้รวมทั้งโลหะหนัก เมื่อรับประทานเข้าไปก่อให้เกิดออกซิเดตีฟ สเตรส (oxidative stress) เป็นอันตรายมากต่อสุขภาพ สารเคมีเหล่านี้ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารผลิตได้จำนวนมหาศาล แต่ต้องแลกกับสุขภาพของประชาชน สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยการปิ้ง ทอด เผา ทำให้บางส่วนอาจไหม้เกรียมหรือเกิดควันติดค้างไปกับอาหาร หรือการทอดในน้ำมันซ้ำหลายๆ ครั้งเหล่านี้ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง เมื่อรับประทานย่อมเป็นอันตรายเพราะเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดออกซิเดตีฟ สเตรส การรับทานบ่อยครั้งจะมีอันตราย เพิ่มปัจจัยเสี่ยง จึงควรหลีกเลี่ยง การดื่มน้ำสะอาดจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ผักต้องล้างให้ดีก่อนบริโภค ล้างในน้ำด่างหรือล้างในน้ำที่ผสมน้ำยาล้างผักจะช่วยได้

5.) ยาและรังสี

ยาทุกชนิดที่เรารับประทานส่วนใหญ่คือ สารเคมี และเป็นสารแปลกปลอม ซึ่งร่างกายต้องย่อยสลายและขจัดออกไป จึงไปทำอันตรายต่อขบวนการย่อยสลายที่ตับและส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เป็นการไปเพิ่มออกซิเดตีฟ สเตรส เพิ่มอนุมูลอิสระ ปัจจุบันทั่วโลกใช้ยาจำนวนมาก จำนวนหนึ่งเกิดผลข้างเคียงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

รังสีซึ่งในในการรักษาโรคมะเร็งนั้นมีคุณสมบัติทำให้มีการแตกตัวของไอออน (ion) ของธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ-เซลล์ (ionization) มีอันตรายทั้งต่อเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการทำให้เกิดออกซิเดตีฟ สเตรส ต่อเซลล์ เกิดอนุมูลอิสระนอกจากนี้เรายังได้ใช้เอกซเรย์และสารกัมมันตรังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องป้องกันอย่างดี และไม่ใช้เกินความจำเป็น

6.) รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ (Ultraviolet sunlight)

แสงอาทิตย์มีประโยชน์มหาศาล เราต้องการแสงอาทิตย์เพื่อกระตุ้นวิตามิน ดี ซึ่งจำเป็นในการทำให้กระดูกและฟันมีสุขภาพและช่วยป้องกันมะเร็ง แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็จะเป็นอันตราย โดยเฉพาะคนผิวขาว สำหรับคนผิวสี เช่น คนไทย เม็ดสีในผิวหนังเมลานิน (melanin) ช่วยป้องกันได้บ้าง เนื่องจากบรรยากาศระดับสูงมีโอโซน (ozone) ช่วยกั้นและลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งถ้ามีปริมาณมากจะมีอันตรายเพราะจะไปลดภูมิคุ้มกันของเซลล์ (cellular immunity) ลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันชั้นโอโซนถูกทำลายไปมากทำให้บางลงและมีรูโหว่ ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (chloro-fluorocarbons) จากการใช้สเปรย์ชนิดต่างๆ และใช้ในการทำความเย็น เช่น ฟรีอ้อน (Freon) รั่วซึมออกมาลอยไปสู่บรรยากาศทำลายชั้นโอโซน รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในคนผิวขาวจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency) ประมาณว่า ชั้นบรรยากาศโอโซนจะลดลง 40% ในปี 2075 ส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น 154 ล้านราย และเสียชีวิต 3.4 ล้านรายทั่วโลก

แสงอาทิตย์เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดต้อกระจก รังสีอัลตราไวโอเลตบี (ultraviolet B, UVB) เป็นตัวสำคัญ แต่รังสีอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) ก็มีส่วนด้วย รวมทั้งแสงแถบสีน้ำเงินที่ตามมองเห็น (visible blue light) เมื่อได้รับปริมาณที่สูงทำให้อัตราการเกิดต้อกระจกเพิ่มขึ้น 60% ในปัจจุบันมีคนเป็นต้อกระจกทั่วโลก 20 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดครึ่งหนึ่งของตาบอดทั้งหมด นอกจากนี้ UV ยังทำอันตรายต่อประสาทรับภาพเรตินา (retina) อีกด้วย ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดนานๆ แสงแดดตอนเช้าไม่แรง ได้รับในช่วงเวลาสั้นๆ จะมีประโยชน์ หากต้องถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆ ควรป้องกันด้วยร่มที่ป้องกันรังสี UV ใช้แว่นกันแดดเสมอ ใช้ครีมป้องกันรังสี UV ทาผิวหนังเมื่อต้องถูกแดดจัดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การรับประทานแอนติออกซิแดนท์จะช่วยป้องกันได้

7.) โลหะที่เป็นพิษ (Toxic metals)

สารโลหะหนักนั้นปนเปื้อนดินและน้ำโดยทั่วจากการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ในประเทศไทยจะพบปริมาณโลหะหนักอยู่ในดินและน้ำ ได้แก่ สารตะกั่ว ทองแดง โคบอลท์ ปรอท อะลูมิเนียม และแคดเมียม ฯลฯ สารเหล่านี้ยังมีอยู่ในเครื่องสำอาง อุปกรณ์ทำครัว น้ำยาซักผ้า สีบางชนิด พลาสติก ยาขัดมัน สารละลายและสารอุดฟัน (รุ่นเก่า) สารเหล่านี้มีพิษมากเพราะมันสะสมตกค้างอยู่ในร่างกาย เมื่อรับเข้าไปจะไปยึดติดกับเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างกันไป เช่น ปรอทเข้าไปยึดกับเซลล์ประสาทส่วนกลาง อะลูมิเนียมที่เซลล์สมอง และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s disease) ตะกั่วไปทำลายสมองทำให้ปัญญาต่ำ เป็นโรคปัญญาอ่อนและยังไปยึดที่กระดูกยับยั้งการเติบโต แคดเมียมจะไปแทนที่สังกะสีซึ่งมีประโยชน์ และเก็บไว้ในร่างกายที่ตับและไต ทำให้ปริมาณลดลง เป็นการไปกดภูมิคุ้มกัน แคดเมียมในควันบุหรี่ ปนเปื้อนในข้าว กาแฟ ชา เครื่องดื่มหลายชนิด สารกำจัดแมลงในพลาสติก ดินและน้ำดื่ม เพื่อสุขภาพจึงควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้สารเหล่านี้ และมีอีกวิธีหนึ่งคือการได้รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยต่อต้านและขจัดโลหะหนักได้ ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกัน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ขจัดโลหะแต่ละชนิดโดยย่อดังนี้

- ซิสเตอีน (cysteine) จะรวมกันทองแดงในเลือด และดึงโลหะหนักออกจากอวัยวะ

- ซีลีเนียม กลูตาไธโอน และเมไธโอนีน (selenium, glutathione & methionine) ช่วยสลายพิษจากโลหะ วิตามินอีช่วยส่งเสริมซีลีเนียมในการสลายพิษ

- กระเทียม จะจับตัวกับโลหะพิษเพื่อขจัดออกจากร่างกาย

- แคลเซียม ช่วยป้องกันการจับตัวของตะกั่วในร่างกายและป้องกันการดูดซึมของอะลูมิเนียม

- วิตามินซีในขนาดสูง ช่วยขจัดพิษและขับออกจากร่างกาย

- สังกะสี ป้องกันการเพิ่มของแคดเมียม

8.) การละเมิดกฎธรรมชาติ ได้แก่

- การรับประทานอาหารหรือปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อาหารที่รับประทานเป็นต้นเหตุของการเสียสุขภาพและโรคเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง เบาหวาน กระดูกพรุน หรือ มะเร็ง ก็ตาม ควรเลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก และอาหารหวานจัด คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ไม่รับประทานอาหารพร่ำเพรื่อ ประการสำคัญ อาหารที่รับประทานสัดส่วนของอาหารชนิดต่างๆ ควรเหมาะสม และไม่ขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น วิตามิน กรดไขมันจำเป็นและสารต้านอนุมูลอิสระ

- การรับรู้สัมผัสไม่ถูกต้อง คือ การรับรู้สัมผัสทั้งห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่ไม่ถูกต้อง เพราะอายุรเวท (การแพทย์แผนโบราณของอินเดีย) ถือว่า การรับรู้สัมผัสนั้นให้พลังงานอย่างละเอียดไปเสริมสร้างเนื้อเยื่อแห่งร่างกาย ชีวิต และจิตวิญญาณ เช่น การฟังดนตรีเสียงดัง จังหวะรุนแรง ฯลฯ เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

- การละเมิดระดับปัญญา ความคิด การพูด และการกระทำไม่ดี ความโลภ อิจฉา ความโกรธ ความกลัว หลง ความวิตกกังวล ฯลฯ เป็นผลให้เสียสุขภาพ

- การละเมิดเกี่ยวกับเวลา ในข้อนี้มีพื้นฐานจากการที่ธรรมชาติปรับเปลี่ยนไปตามการโคจรของดวงดาว ยังผลให้โลกเปลี่ยนแปลง เช่น กลางวัน กลางคืน และฤดู บรรยากาศ (ธรรมชาติ) ของโลกก็เปลี่ยนไปด้วย รวมทั้งคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ขบวนการชีวเคมีในร่างกายของเราก็ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติตน พฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของเราที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จึงเป็นการรักษาสุขภาพ

การละเมิดกฎธรรมชาติทั้ง 4 ข้อนั้น เป็นสาเหตุให้การดำเนินไปของร่างกาย อวัยวะ เซลล์ บกพร่องผิดพลาด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับโมเลกุลและเซลล์จนถึงอวัยวะในระบบ ทำให้ร่างกาย อวัยวะ เซลล์ได้สูญเสียความสามารถในการดำเนินไปให้ได้ผลดีตามธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์กำหนดไว้ให้ อายุรเวทเรียกว่า ประเกียอะปะราดห์ (pragya-aparadh) แปลได้ว่าเกิดผิดพลาดที่ภูมิปัญญา ตามธรรมชาติแล้วเซลล์และอวัยวะได้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ได้ถูกต้องเหมาะสมอยู่เสมอเป็นไปตามกฎธรรมชาติ (natural law) หรือกลมกลืนกับกฎธรรมชาติที่ควบคุมจักรวาลซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่ง เราได้รับการออกแบบให้มีชีวิตดำเนินไปตามระเบียบที่สมบูรณ์แบบ ก่อเกิดพลังงานภายในอย่างมากมายและเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์

9.) การออกกำลังกายมากเกินไป (Excessive exercise)

การออกกำลังกายเป็นดาบสองคม อย่าคิดว่าการออกกำลังกายอย่างเดียวนั้นเพียงพอที่จะป้องกันอนุมูลอิสระหรือมีสุขภาพได้ แต่ในทางกลับกัน การออกกำลังกายกลับไปเพิ่มระดับของอนุมูลอิสระได้เช่นเดียวกัน น.พ.เคนเนธ คูเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแอโรบิคเอกเซอร์ไซส์ (aerobic exercise) และเวชศาสตร์ป้องกันได้เน้นว่า การออกกำลังกายมากรุนแรงเกินไปทำให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจจู่โจม (heart attack) สโตรค (stroke) และมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อทำต่อเนื่องเป็นปีๆ ทำให้เป็นหวัด หรือเจ็บคอ คออักเสบได้ง่าย ดังเราจะเห็นผู้ออกกำลังกายมาก เช่น นักวิ่งมาราธอนนานๆ มีหน้าตาร่างกายอิดโรย ดูแกร่งแต่หน้าแก่

ดังนั้น ควรออกกำลังกายพอประมาณ และรับประทานแอนติออกซิแดนท์เสริม โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังมาก

ขอขอบพระคุณ

ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน

ประธานมูลนิธิต่อต้านโรคมะเร็ง ภาคเหนือ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์พิเศษคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รังสีแพทย์ โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สุขภาพคือการป้องกันโรค


หากเรายกเอาคำจำกัดความของสุขภาพออกไปก่อน แล้วมาดูว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการในการดำเนินชีวิตมากที่สุดคืออะไร จะพบว่าเราอยากให้ร่างกายของเราทำหน้าที่ดีที่สุด ทำกิจกรรมการงานที่พึงกระทำได้ ไม่เจ็บปวดอ่อนล้าเหนื่อยหน่าย มีความคิด ความจำดี มีความสุขสดใสและแข็งแรง ทนสภาพได้ดีพอควร กินได้ นอนหลับ ขับถ่ายดี และดำรงชีวิตในสังคมได้ดี ในภาพรวม คือ มีความสุขในการเป็นอยู่แต่ละวัน สบายดี (wellness) ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคุณภาพของ การมีสุขภาพ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เข้าได้กับคำจำกัดความของสุขภาพที่นิยมใช้กันมานาน กล่าวคือ สภาวะความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม มิได้หมายความแต่เพียงปราศจากโรคและความเจ็บป่วยเท่านั้น

หรือมีทัศนะต่อสุขภาพสมัยใหม่ตามตะวันตกที่นิยามกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า สุขภาพมี 4 มิติ คือ มีสุขภาพของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ นับเป็นนิยามที่ครอบคลุมได้ดีน่าจะสมบูรณ์แบบที่สุด แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า จะมีวิธีการอย่างไรจึงจะทำให้ได้ตามนั้น เพราะเมื่อมีวัตถุประสงค์ชัดแล้วสิ่งสำคัญคือวิธีการหรือขบวนการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายนั้น เช่น สุขภาพของจิตวิญญาณ จะมีวิธีสร้างได้อย่างไร

ตามข้อกำหนดของสุขภาพที่กล่าวมาข้างต้นอาจถูกต้องสมบูรณ์แบบ แต่อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะคนที่มีสุขภาพแม้ไม่มีอาการหรือสัญญาณปรากฏ แต่อาจมีโรคซ่อมอยู่หรือการเสื่อมสภาพที่ยังไม่ปรากฏอาการซ่อนอยู่ได้ คำจำกัดความของสุขภาพจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าเบื้องลึกแล้วมีสุขภาพจริงๆ เพราะโรคหลายชนิด เช่น มะเร็งและโรคหลอดเลือดแข็งนั้น ใช้เวลานานนับเป็นสิบๆ ปี กว่าจะตรวจพบหรือมีอาการปรากฏ แต่ได้บ่มฟักตัวช่อนอยู่ บุคคลที่เรียกว่ามีสุขภาพ อาจไม่ปราศจากโรคอย่างแท้จริง จะเชื่อได้อย่างไรว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหรือภาวะหลอดเลือดแข็งซ่อมอยู่

มาตรการการป้องกันโรคที่เป็นกันบ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดกับทุกคนเมื่อมีอายุยาวขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันภาวะการเสื่อมสภาพของร่างกายหรือภาวะต่างๆ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จึงควรดำเนินการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ ที่จริงเราสามารถป้องกันโรคได้เกือบทุกโรค โรคที่สำคัญมีไม่กี่โรคนั้น ควรจะป้องกันอย่างเต็มที่ เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดแข็ง (หัวใจ สมองฯ) กระดูกบาง ข้อเสื่อม เบาหวาน ต้อกระจก เป็นต้น เกี่ยวกับฟันนั้น จำเป็นด้วยหรือที่ฟันจะค่อยๆ หลุดจากปาก เมื่อมีอายุมากขึ้น

การมีสุขภาพนั้นควรรวมถึงการป้องกันโรค (โดยเฉพาะที่ซ่อมอยู่) ด้วย เพราะโรคต่างๆ มากโรคที่ระยะซ่อนตัวโดยไม่มีอาการนั้น การตรวจมากวิธีก็ยังตรวจไม่พบโรค หนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือทำให้มีสุขภาพ จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน

ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีบางคนนั้น ดูอ่อนวัย กระฉับกระเฉง ทั้งทรงสภาพและสมรรถนะที่เยาว์วัยกว่าอายุ เช่น อายุ 70 ปี แต่มีพละกำลังและชีวิตชีวา เหมือนอายุ 40-50 ปี ความเยาว์วัยจึงเป็นผลพวงที่ได้จากการมีสุขภาพและผลสรุปสุดท้ายของสุขภาพคือการมีอายุยืนยาวด้วย การแพทย์แผนปัจจุบันมีทัศนะต่อสุขภาพอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับของการมีสุขภาพของบุคคลนั้นในขณะนั้นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญของสุขภาพที่ทำให้เกิดความเยาว์วัย หรือป้องกันโรคอย่างจริงจังที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือความมีอายุยืนยาวแต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกรอบความคิดได้ถูกกำหนดไว้เช่นนั้น

การป้องกันโรค (เวชศาสตร์ป้องกัน)

ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยอมรับว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นหรือเมื่อแก่ เขาจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีร่างกายเสื่อมโทรม แล้วเกิดโรคเสื่อมสภาพเรื้อรัง ไม่โรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรค เช่น โรคหัวใจโคโรนารี่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (storke) ข้อเสื่อม ความดันโลหิตสูง ฟันค่อยๆ หลุดจนหมดปาก และต้อกระจก และหวังพึ่งแพทย์แผนปัจจุบันหรือยา เมื่อเกิดโรคเหล่านี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดเข้าจริงๆ เป็นที่น่าเสียใจที่พบว่าการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพที่ช่วยได้ไม่มากนัก แน่นอนหลายรายที่ช่วยได้ เช่น หายขาดจากมะเร็ง หรือได้รับการผ่าตัดบายพาส (bypass surgery) เพื่อให้เลือดไหลเบี่ยงจุดตีบตันไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ แต่มีมากรายกว่าที่รักษาไม่ได้ผลดี หรือตายไปก่อนที่จะช่วยได้ทัน ฉะนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ จึงควรทำและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ อีกประการหนึ่ง การป้องกันโรคเหล่านี้ต้องใช้ช่วงเวลาที่ยาวนานติดต่อกันจึงจะได้ผล

การป้องกันโรคในระบบการแพทย์ปัจจุบัน

เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่า การสาธารณสุข การสุขาภิบาลของประเทศเราได้เจริญก้าวหน้าไปมาก สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ดี นับเป็นการป้องกันโรคระดับชุมชนที่ได้ผล ในส่วนบุคคลระบบสาธารณสุขและตัวแพทย์เองแนะนำและชี้ชวนให้ประชาชนมาตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อที่จะได้รักษาสถานภาพของการมีสุขภาพไว้ เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้วเราพอสรุปได้ว่า การแนะนำเช่นนี้เป็นความพยายามอย่างธรรมดาที่จะค้นหาโรคให้ได้แต่เนิ่นๆ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง ถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ (mammogram) ตรวจแพป สเมียร์ (Pap smear) เพื่อหามะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อจะดูว่ามีโรคซ่อนอยู่ในร่างกายหรือไม่ การตรวจเช่นนี้มีอะไรบ้างที่เป็นการป้องกันโรค? แต่ที่แน่ชัดก็คือเป็นความพยายามที่จะค้นหาโรคให้เร็วหรือระยะแรกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อค้นหาโรคที่ซ่อมอยู่ในตัวเมื่อยังไม่มีอาการได้ ขบวนการเช่นนี้หาใช่การป้องกันโรคแต่อย่างใด เพราะว่าเมื่อตรวจพบนั้นโรคก็ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว การแพทย์ในปัจจุบันจึงเป็นการไปแก้ปัญหาในภายหลัง แน่นอนการค้นพบโรคได้ไวที่สุดเท่าใดยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษามากเท่านั้น เราน่าจะมีวิธีการป้องกันที่ดีกว่านี้ เป็นวิธีการเชิงรุกเพื่อป้องกันโรคและภาวะเสื่อมสภาพให้ได้ ก่อนที่จะเกิดขึ้นในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น อีกประการหนึ่ง บุคลลที่ตรวจร่างกายแล้วปกติ หรือผู้ที่ไม่มีอาการอะไรจำนวนหนึ่ง อยู่ๆ อาจจะตายจากโรคหัวใจ หรือเป็นสโตรค หรือพบว่าเป็นมะเร็งอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน

นอกจากนี้ การแนะนำให้ออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ เช่น เต้นแอโรบิค วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน ฯลฯ นั้น เป็นการมุ่งเน้นความแข็งแกร่งให้ร่างกายโดยไม่คำนึงถึงผลเสีย และยังสร้างความสำนึกให้ดูเหมือนว่ายิ่งออกกำลังมาก ยิ่งวิ่งได้มากยิ่งดี เปรียบเหมือนความผกผันเป็นเส้นตรง ทำให้ผู้ออกกำลังกายเป็นประจำคิดว่าตัวเองปลอดจากโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายคนเสียชีวิตจากมะเร็งและโรคหัวใจ ดูตัวอย่างอดีตประธานาธิบดีคลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ออกกำลังกายวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นประจำมานาน ยังเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบจนต้องผ่าตัดบายพาส

เกี่ยวกับอาหารก็เช่นกัน หน่วยงานทางสาธารณสุขได้แนะนำให้บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ผักผลไม้ และเกลือแร่ จนประชาชนท่องจำได้ มันกลับทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าทำแค่นี้ก็สร้างสุขภาพได้แล้ว ถึงรับประทานเสริมก็ไม่มีประโยชน์เพราะจะขับออกมาทางปัสสาวะหมด ในความเป็นจริงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น หัวข้อการแนะนำถูกต้องแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม แต่ต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้

การป้องกันโรคที่พึงประสงค์

การป้องกันโรคที่พึงประสงค์ คือการป้องกันโรคที่แท้จริง นอกจากจะป้องกันไม่ให้โรคหรือเกิดโรคได้ในอนาคตแล้ว ยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย การที่รู้สึกมีสภาพ สบายดี นั้น มิได้หมายความว่าไม่มีโรค ในมุมมองนี้ ได้ให้ความสำคัญของการเกิดหรืออาจจะเกิดโรคเป็นหลักมากกว่าการเอาสุขภาพเป็นหลักแต่อย่างเดียว เพราะอย่างไรเสียได้ถือว่าการเสริมสร้างสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เราคงปรารถนาที่จะป้องกันโรคทุกโรค แต่เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปได้ง่ายมีผลดีสูงสุด เราคงต้องเน้นโรคที่เกิดได้บ่อยและมีความรุนแรงก่อน ซึ่งตัวชี้วัดที่ดีคือ โรคที่ทำให้เราเสียชีวิตได้บ่อยที่สุดของคนไทยในอันดับต้นๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอันดับหลังๆ คือโรคติดเชื้อในระบบต่างๆ โรค 3 อันดับแรกเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ (degenerative disease) การเสื่อมสภาพนั้นเกิดได้จากการมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้มันเสื่อมสภาพ เช่น ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เสียสมดุล การอักเสบ และหรือ เกิดจากการใช้งานมาก การป้องกันโรคไม่พึงประสงค์นั้น ต้องลงไปในรายละเอียดของแต่ละโรคและทำการป้องกันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้จะดีที่สุด โรคต่างๆ เหล่านี้แม้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังสามารถเข้าไปช่วยบำบัดให้ทุเลาลง ไม่ลุกลามมากขึ้น หรือคืนสภาพสู่ปกติได้อีกด้วย การป้องกันโรคจึงหมายรวมถึงการบำบัดรักษาไม่ให้โรคลุกลาม และให้คืนสู่สภาพปกติ โรคเหล่านี้ไม่ได้เกิดจาการใช้งานมากหรืออายุมาก แต่เกิดจากการอักเสบ และหรือ ขาดสารอาหารเป็นเหตุสำคัญ

เมื่อเราสามารถป้องกันหรือขจัดโรคที่ซ่อนอยู่ได้อย่างดีแล้ว จึงจะเรียกได้ว่า เรามีสุขภาพอย่างแท้จริง นี่คือมุมมองต่อการป้องกันโรคหรือเวชศาสตร์ป้องกันแนวใหม่ ที่จะนำเสนอและเชื่อว่าวิธีนี้ยังจะทำให้มีสุขภาพ ความเยาว์วัยและอายุยืนยาวอีกด้วย

ส่วนหลักการและวิธีการนั้นมุ่งเน้นไปที่การบำรุงรักษาดุลยภาพในระดับอณูและเซลล์เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพ และความเสื่อมสภาพที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ นั้นเกิดจากการเสียสมดุลที่สำคัญมาจากการขาดสารอาหารและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องมากกว่าความชราหรือการใช้งานมาก

ขอขอบพระคุณ ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน อาจารย์พิเศษคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ รู้สู้โรค โมเลกุลเพื่อชีวิต ชีวิตเพื่อสุขภาพ ที่ทำให้เราได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาป้องกัน ก่อนที่จะเกิดโรค