วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

คลอโรฟิลล์คืออะไร

คลอโรฟิลล์คืออะไร

แม้ว่าเราจะมีต้นไม้คู่โลกมานมนาน แต่เราก็เพิ่งจะรู้จักกับคลอโรฟิลล์เมื่อไม่นานมานี่เอง มนุษย์เริ่มรู้ว่าคลอโรฟิลล์เป็นสาระสำคัญที่ทำให้พืชมีชีวิตอยู่ได้ก็เมื่อศตวรรษที่ 18 มานี้เอง เมื่อพริสลี่ย์พบว่าพืชที่มีสีเขียวใช้คาร์บอนไตออกไซด์และสร้างออกซิเจนออกมา นั่นเป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติรู้จักการสังเคราะห์แสง

ในปี 1817 เพลเลอร์ทีเอร์ และคาเวนโต เป็นผู้ตั้งชื่อสารสีเขียวในพืชว่า คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)”

ในปี 1909-1914 ดร.ริชาร์ด วิลสแตทเตอร์ จึงเป็นผู้พบโครงสร้างทางเคมีของคลอโรฟิลล์ว่าประกอบด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจนและออกซิเจน อะตอมทั้งหมดนี้เรียงรายล้อมรอบแมกนีเซียมซึ่งเป็นอะตอมที่อยู่ตรงกลาง จากผลงานนี้เองทำให้ดร.สแตทเตอร์ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1915

ในทางเคมีเรารู้ว่าคลอโรฟิลล์ละลายได้ในไขมัน อยู่ในกลุ่มของกรดไตรคาร์บอกซิลิค คลอโรฟิลล์ประกอบด้วยธาตุที่เป็นโลหะอยู่ตรงกลาง มีสารประกอบเรียงกันเป็นวงเรียกว่า พอร์ไฟริน (prophyrin)” และมีไฟตอลซึ้งเป็นแอลกอฮอล์โครงสร้างยาวเกาะอยู่กับเอสเทอร์ของมัน โครงสร้างดังกล่าวจะถูกไฮโดรไลส์ได้ง่าย จากปฏิกิริยานี้จะได้กลุ่มกรดคาร์บอกซิลิคซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเกลือตัวหนึ่งที่ละลายน้ำได้ ที่เรารู้จักกันในชื่อของ คลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin)” เกลือที่ได้จะผิดกับคลอโรฟิลล์ที่ละลายเฉพาะในไขมัน

ในปี 1930 ดร.ฮันส์ ฟิชเชอร์ก็ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะที่ค้นพบโครงสร้างของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบินทำให้เม็ดเลือดของเราเป็นสีแดง เช่นเดียวกับที่คลอโรฟิลล์ทำให้ต้นไม้เป็นสีเขียว การค้นพบครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พากันประหลาดใจไปตามๆ กัน เนื่องจากโครงสร้างของฮีโมโกลบินนั้นคล้ายคลึงกับคลอโรฟิลล์เป็นที่สุด จะต่างกันก็แต่ธาตุที่อยู่ตรงกลางของโครงสร้างเท่านั้นเอง คือ คลอโรฟิลล์แมกนีเซียม (Chlorophyll Magnesium)” ส่วนฮีโมโกลบินคือ เหล็ก (Iron)” ดูรูป


เมื่อเราได้กินพืชผักใบสีเขียวเข้าสู่ร่างกายในขณะที่ยัง เขียวสด(ต้องไม่ถูกนึ่ง หรือไม่ถูกต้มจนเป็นสีน้ำตาล) ย่อมจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์หลายประการ กล่าวคือ

1.) ร่างกายใช้กระบวนการดึงเอา ธาตุแมกนีเซียม ออกแล้วแทนที่ด้วยธาตุเหล็ก พร้อมทั้งปรับแต่งอีกเล็กน้อย ก็จะได้ฮีโมโกลบินอันเป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์อย่างง่ายดาย

โดยธรรมดา ในร่างกายของมนุษย์ขนาดปกติจะสะสมธาตุเหล็กไว้ตลอดเวลาเป็นจำนวนประมาณ 4 กรัม แต่หากเกรงว่าจะขาดธาตุเหล็กก็โปรดนึกถึงอาหารที่มีสีแดงเข้ม เช่น เลือดหมู เลือดไก่ เนื้อวัว เนื้อปลาแซลมอนสด ที่มีสีแดงจัด

2.) ธาตุแมกนีเซียมที่ถูกดึงออกไป จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การใช้บำรุงรักษาหัวใจของเจ้าของร่างกาย

3.) วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นย่อมมีบริบูรณ์ในพืชผักสดมากกว่าในพืชที่สุกด้วยความร้อน ที่สำคัญก็คือ อาหารประเภท วิตามินซี และเอนไซม์จากพืชจะหมดไปทันทีหากถูกความร้อน

4.) อาหารที่เป็นพืชผักย่อมให้สารเส้นใย (Fiber) แก่ร่างกาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ซึ่งขณะนี้คนไทยกำลังเป็นโรคนี้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี) และช่วยลดไขมันและน้ำตาลในกระแสเลือดได้ด้วย

ส่วนใหญ่คลอโรฟิลล์ที่ได้มาจากธรรมชาติ แต่ก็มีคลอโรฟิลล์สังเคราะห์เหมือนกัน คลอโรฟิลล์สังเคราะห์ไม่เหมือนกับคลอโรฟิลล์จากธรรมชาติเสียทีเดียว กล่าวคือมันจะอยู่ในรูปของคลอโรฟิลลินของทองแดง คือในแกนกลางของมันจะเป็นทองแดงแทนที่จะเป็นแมกนีเซียม มีสีเขียวออกฟ้าแทนที่จะมีสีเขียวแบบใบไม้ สามารถละลายในน้ำได้ และเป็นที่สงสัยว่ามันไม่สามารถดูดซึมผ่านระบบย่อยของเราเข้าสู่ร่างกายได้

ทำไมจะต้องสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ขึ้นมาใช้ด้วยเนื่องจากเราหาคลอโรฟิลล์ได้จากธรรมชาติอยู่แล้ว คำตอบก็คือ คลอโรฟิลล์เป็นสารที่ไม่คงทน มันจะสลายตัวได้ง่ายมากเพียงเพราะถูกแสงแดดหรือว่าแห้ง ถึงตอนนั้นคุณสมบัติทางชีวเคมีของมันก็จะหมดไป

ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ ความที่โครงสร้างของคลอโรฟิลล์ซับซ้อนเป็นโพลิเมอร์ จึงเป็นที่สงสัยกันว่าคลอโรฟิลล์จากธรรมชาติเองก็เถอะจะสามารถดูดซึมเข้าไปในลำไส้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่าลืมว่าคลอโรฟิลล์ละลายได้ในไขมัน ร่างกายของเราจะดูดซึมไขมันที่ระดับลำไส้เล็ก จากงานวิจัยในหนู ของนพ.โยชิฮิเดะ ฮากิวารา ปรากฏว่า คลอโรฟิลล์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หมดในระดับลำไส้เล็ก ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นห่วงว่าคลอโรฟิลล์จะถูกดูดซึมเข้าไปใช้ในร่างกายได้หรือไม่

สำหรับปัญหาเรื่องการดูดซึม ยังมีการแก้ปัญหานี้อีกวิธีหนึ่ง กล่าวคือ ได้มีการใช้คลื่นความถี่สูงทำให้วงพอร์ไฟรินแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายง่ายยิ่งขึ้น และสามารถซึมเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเข้าสู่กระแสเลือดในทันที

สำหรับความสนใจในการใช้คลอโรฟิลล์เป็นยา ก็มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 20 และเพราะคลอโรฟิลล์เกือบจะเหมือนกับฮีโมโกลบิน นักวิทยาศาสตร์จึงสนใจจะใช้คลอโรฟิลล์ไปสร้างเม็ดเลือด และเมื่อให้คลอโรฟิลล์ไปพร้อมๆ กับธาตุเหล็กแล้วผลการรักษายิ่งดีกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าคลอโรฟิลล์สามารถเพิ่มอัตราของเมตาโบลิสม์ (metabolism) ในหนู กระต่าย และคน ทั้งยังกระตุ้นหัวใจกบให้เต้นแรงขึ้น รวมทั้งสามารถใช้กระตุ้นหัวใจกบที่หยุดเต้นแล้วให้กลับมาเต้นใหม่ได้ด้วย

ในคนก็มีรายงานว่าคลอโรฟิลล์มีผลในการขยายหลอดเลือด จึงสามารถลดความดันเลือดได้ ทำให้มีคนสนใจใช้คลอโรฟิลล์ในการบำบัดโรคในเวลาต่อมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น